วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

สานสัมพันธ์สร้างสรรค์ รวมใจทีมงาน… “สู่ความเป็นเลิศ”

จินดา เจริญผล
วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้
E-Mail:jcharoenphol@yahoo.com
       
       สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการประสบความสำเร็จในการบริหารงาน เพื่อสู่ความเป็นเลิศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรหรือผู้ร่วมงานทุกฝ่ายทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง จนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ ที่มีความคิดเห็นและมีการวางนโยบายในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือในการดำเนินงาน โดยมีการคิด วิเคราะห์ ปัญหา อุปสรรคและโอกาส ในการวางรากฐานขององค์กรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง โดยมีหลักการและแผนงานร่วมกันอย่างชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสให้กับองค์กรสู่ความเป็นเลิศในทุก ๆ ด้าน


         ดังนั้นจุดสำคัญของการทำงานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพนั้น พื้นฐานความสำคัญของการสร้างทีมงาน สำหรับในแง่ของการทำงานเป็นทีม คือการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วการปฏิบัติงานต่างก็ได้รับความพอใจในผลงานนั้น ๆ เปรียบเสมือนว่า “องค์กรใดที่มีทีมงานที่เข้มแข็ง ถือว่าองค์กรนั้นมีโครงสร้างการบริหารงาน เปรียบดังโครงสร้างอาคารที่เสริมเหล็ก” สำหรับการสร้างพลังใจให้กับทีมงานให้สู่ความสำเร็จและทำงานอย่างมีความสุข จึงจำเป็นต้องมีการประสานการทำงานในทีมงานให้มีการพัฒนาการทำงานอย่างเต็มความสามารถของตน ได้รับการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะประสบการณ์กับเพื่อนร่วมทีม ทำให้เกิดการคิดสร้างสรรค์และมีความคิดริเริ่มในสิ่ง ใหม่ ๆ และการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน ถือว่าเป็นการปรึกษาหารือหาวิธีการหรือแนวทางกลไก ที่ช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมีคุณภาพ ในแง่ของการทำงานที่ดีเพื่อให้เกิดความมั่นคง นอกจากนี้ยังเป็นขบวนการทำงานที่ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดความรัก ความสามัคคี น้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีเครือข่ายสัมพันธภาพเกิดความสุขในการทำงานร่วมกัน

กระบวนการสร้างทีมงาน

1. กำหนดภาระหน้าที่งานที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละคน โดยยึดตามวัตถุประสงค์ของงาน

2. ต้องสร้างความเข้าใจและเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ และมีการตัดสินใจ

3. ระดมความคิดของสมาชิกทุกคนของทีมในเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ทักษะการทำงานที่จำเป็น ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ต้องการ อัตราเสี่ยงกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น นั่นเป็นการระดมความคิดในแง่ของการทำงานในหน่วยงานนั้น ๆ

4. เลือกหรือคัดเลือกความคิด เป็นการพิจารณาความคิดที่ได้จากการระดมสมอง ไม่ใช่เป็นการคัดเลือกความคิดของผู้บริหารเพียงคนเดียวหรือของคนใดคนหนึ่งของทีมงาน แต่เกิดขึ้นจากการระดมสมองโดยเฉพาะวิธีการปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำงานซึ่งผู้นำและทีมงาน เห็นว่าดีที่สุด

5. ต้องกำหนดเป็นแผนปฏิบัติงาน หมายถึงการวางแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ทีมงาน รับทราบแผนงาน ว่าใครมีหน้าที่อะไร ที่ไหน เมื่อใด ผู้บริหารจะต้องแน่ใจว่าทีมงานทุกคนเข้าใจ แต่ละคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรบ้าง

6. การดำเนินงานตามแผนเมื่อมีการวางแผนเสร็จก็นำแผนนั้นไปดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้มีการคัดเลือกความคิดจากการได้ระดมความคิดตรงนั้นมา 7. บันไดขั้นสุดท้ายมีการประเมินผล เป็นการสรุปผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของการทำงาน คุณภาพของผลงาน เกิดปัญหาอุปสรรค และสามารถที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ในลักษณะไหน มีทางเลือกอะไรบ้าง คือบันได 7 ขั้นตอนของกระบวนการสร้างทีมงาน

        ดังนั้นสรุปได้ว่า การทำงานแบบทีม ( Work teams) เป็นการทำงานร่วมกันและส่งเสริมกันไปในทางบวก ผลงานรวมของทีมที่ได้ออกมาแล้วจะมากกว่าผลงานรวมของแต่ละคนมารวมกัน ในปัจจุบันนี้มีองค์กรจำนวนมากมีการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานใหม่ โดยนำการทำงานแบบทีมเข้ามาใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเพื่อสร้างศักยภาพ (Potential) ในการทำงานให้กับองค์กรเพื่อได้ผลผลิตที่ดี สำหรับเทคนิคในการทำงานอย่างมีความสุข เช่นมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ทำ รักองค์กร ไม่เห็นแก่ตัว มีความผิดชอบที่ได้ทำงานอย่างมีความสุข หรือการใช้เทคนิค 5 ห 5ห ประกอบด้วย

ห ที่ 1 ห หัวเราะ


ห ที่ 2 ห ห่วงใย


ห ที่ 3 ห เห็นอกเห็นใจ


ห ที่ 4 ห ให้


ห ที่ 5 ห เหตุผลก่อนอารมณ์

        ซึ่งในการดำรงชีวิตของคนเราในปัจจุบันนี้ที่อยู่อาศัยนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเรามักจะได้ยินคนทั่วไปกล่าวว่านั่นคือบ้านหลังที่หนึ่งของเรา แต่เมื่อเราได้ทำงานไม่ว่าจะเป็นสถานที่แห่งไหนก็ตามที่ทำงานแห่งนั้นก็เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเรา คำว่าบ้านบ่งบอกความหมายของตัวเองอยู่แล้วว่าให้ความร่มเย็น ความสุขมากมายมหาศาล และบ้านหลังที่สองก็คงไม่ต่างจากหลังที่หนึ่งสักเท่าไร เพียงแต่ว่าบ้านหลังที่สองนี้ให้สิ่งที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพแก่เราด้วย หากเราสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านหลังที่สองนี้ให้มีความสุขเหมือนบ้านหลังที่หนึ่งได้แล้ว เราก็จะมีความสุขได้อย่างรื่นรมย์กับภาระงานของเราตามที่ได้รับการมอบหมาย

แหล่งอ้างอิง

http://www.stou.ac.th/study/sumrit/5-52/page4-5-52.html

http://www.trainer.in.th/ecms/en/?choice=article&pid=25

http://mail.lib.buu.ac.th/kb/?View=entry&EntryID=144

1 ความคิดเห็น: